มฟล. จัดนิทรรศการ ดีไซน์ยั่งยืน พลิกฟื้นชุมชน “Redesign Culture, Revive Community” ผลงานนักออกแบบชุมชนเชียงราย-น่าน วันที่ 21 ม.ค.-2 ก.พ. 2568 ณ หอศิลป์กรุงเทพฯ

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

     เมื่อวันอังคารที่ 21 มกราคม 2568 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดย สถาบันศิลปวัฒนธรรมและอารยธรรมลุ่มน้ำโขง จัดพิธีเปิดนิทรรศการดีไซน์ยั่งยืน พลิกฟื้นชุมชน “Redesign Culture, Revive Community” ผลงานจากโครงการ Design Community Project โดยเป็นนิทรรศการผลงานของนักออกแบบชุมชน ได้ร่วมกับนักวิจัย มฟล. พลิกฟื้นภูมิปัญญานำมาถ่ายทอดในรูปแบบผลงานสร้างสรรค์ มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืนด้วยแนวคิด Vernacular Design ในชุมชนนักออกแบบทั้ง 10 ชุมชน จากเมืองเก่าเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และเมืองเก่าน่าน จังหวัดน่าน เปิดให้เข้าชมระหว่างวันที่ 21 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2568 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

     ในพิธีเปิด ผศ. ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดี มฟล. เป็นประธาน รศ. ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง หัวหน้าสถาบันศิลปวัฒนธรรมและอารยธรรมลุ่มน้ำโขง หัวหน้าโครงการ Design Community Project กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายโยธิน ทับทิมทอง ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานน่าน นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ดร.ชลิดา ธนินกุลภรณ์ หัวหน้าส่วนจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม มฟล. พร้อมทั้งแขกผู้มีเกียรติ สื่อมวลชน ศิลปินนักออกแบบชุมชนเชียงราย-น่าน เจ้าของผลงาน เข้าร่วมพิธีเปิด และร่วมรับฟังเสวนา “การขับเคลื่อนงานสร้างสรรค์ ด้วยการสร้าง Design Community” และร่วมชมนิทรรศการผลงานจาก 30 นักออกแบบชุมชน

     ผศ. ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดี มฟล. กล่าวว่า ในนามของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงรู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในโอกาสสำคัญครั้งนี้ ซึ่งเป็นการจัดนิทรรศการแสดงผลงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านสินค้าและบริการ ภายใต้โครงการการยกระดับศักยภาพชุมชนนักออกแบบเพื่อความยั่งยืน หรือโครงการ Design Community Project ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 มกราคม ถึง 2 กุมภาพันธ์ 2568 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

    “กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง เป็นโครงการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อปกป้องแหล่งท่องเที่ยวและมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเพื่อความยั่งยืน ได้เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ 2564 โดยมีเป้าหมายหลักในการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของบุคลากรในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และยกระดับศักยภาพของนักออกแบบรุ่นใหม่ รวมถึงผู้ประกอบการในท้องถิ่นเพื่อทราบผลกระทบที่ยั่งยืนให้แก่สังคม”

   “ในปีพ.ศ 2567 โครงการนี้ได้ยกระดับขึ้นอีกขั้นหนึ่ง ด้วยการขับเคลื่อนแนวคิดเมืองสร้างสรรค์หรือ Creative City ควบคู่กับการจัดตั้ง Design School เพื่อสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่เปิดกว้างสำหรับทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา นักออกแบบรุ่นใหม่ หรือชุมชนท้องถิ่น โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน ซึ่งการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์และDesign School นั้นเป็นการวางรากฐานสำคัญการนำพาชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และก้าวไปสู่อุตสาหกรรมเมืองสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพของกลุ่มผู้คนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่ออนาคตที่ดีและยั่งยืนต่อไป”

    รศ. ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง หัวหน้าโครงการ Design Community Project กล่าวว่า Project นี้เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และมหาวิทยาลัยดำเนินการมาอย่างตจ่อเนื่อง

   “โครงการนี้ได้ผลิตนักออกแบบที่เป็นคนในชุมชนประมาณ 60 คน และมีผลิตภัณฑ์ทั้งหมดประมาณ 60 รายการ และสร้างรายได้ให้กับชุมชนเกิน 15% และตอนนี้ยังขับเคลื่อนโครงการต่อเนื่อง นำไปสู่ผู้ประกอบการและขับเคลื่อนไปสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ซึ่งเชียงรายเราดำเนินการไปเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบได้สำเร็จแล้ว ส่วนเมืองน่านกำลังเข้าสู่การคัดเลือกและส่งใบสมัคร เรากำลังขับเคลื่อนเมืองเพื่อนำไปสู่ในเรื่องของ Soft Power ซึ่งเมืองสร้างสรรค์อยู่ในนโยบายเรื่อง Soft Power เพื่อทำให้เมืองไปสู่เครือข่ายที่เป็นที่รู้จักในเวทีนานาชาติ และสร้างมูลค่าการผลิตทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น จากฐานความรู้และงานสร้างสรรค์ทั้งหมด ซึ่งเป็นงานด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทางมหาวิทยาลัยวางเป้าหมายในการขับเคลื่อน หากเราทำสำเร็จทั้งเมืองเก่าน่านและเมืองเก่าเชียงแสนก็จะก้าวไปสู่การเป็นผู้ประกอบการต่อไป ซึ่งเราจะดำเนินการทำงานและสร้างตลาดในการทำงานเผยแพร่หรือขายสินค้ากันต่อ และคิดว่ายังคงขยายไปสู่เมืองอื่น ๆ ในภาคเหนือและลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและอนาคตที่ยั่งยืน ตามแนวทางการพัฒนาของมหาวิทยาลัยต่อไป”

.

ชมภาพเพิ่มเติม

https://www.facebook.com/media/set/?vanity=MFUTODAY&set=a.939568161636847

  • 824 ครั้ง
  • #พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง